วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2554

บันทึกครั้งที่ 31 บทความ 'วิวัฒนาการสังคมออนไลน์จากไฮไฟว์ถึงทวิตเตอร์'




 'วิวัฒนาการสังคมออนไลน์จากไฮไฟว์ถึงทวิตเตอร์' 
                   ธรรมชาติของมนุษย์มักอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเพื่อดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ก่อให้เกิดการติดต่อสื่อสารระหว่างกันและมีการพัฒนาในหลาย ๆ ด้านเพื่อตอบสนองความต้องการของการใช้งานจึงเกิดเป็นสังคม ออนไลน์ขึ้นในปัจจุบัน
 
                    สังคมออนไลน์ ในความรู้สึกของเราทุกวันนี้คือความต้องการที่จะออนไลน์ทางอินเทอร์เน็ตเพื่อทำความรู้จัก พูดคุย ติดต่อสื่อสารกัน ชัชวาล สังคีตตระการ  ผู้ช่วยวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็ก ทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโน โลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ความรู้ว่า ยุคนี้ถือเป็นยุคของเว็บ 2.0 โดยก่อนหน้านี้เราจะอยู่ในยุคของเว็บ 1.0 ที่มีการสื่อสารทางเดียวคือ การอ่านเพียงอย่างเดียว แต่ช่วงหลัง ๆ มนุษย์เราด้วยความที่เป็นสัตว์สังคมจึงไม่ต้องการสร้างเว็บแค่ให้อ่านเพียงอย่างเดียว แต่เราสามารถสร้างความพึงพอใจ  โดยการสร้างประวัติโดยย่อ และ มีแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ให้เลือก ใช้รวมทั้งสามารถโพสต์ข้อความหรือแสดงความคิดเห็นได้ด้วย จึงเกิดเป็นสังคมออนไลน์ขึ้น
 
                 เว็บไซต์เด่น ๆ ในบ้านเราที่เป็นสังคมออนไลน์ ได้แก่ ไฮไฟว์, มายสเปซ, เฟซบุ๊ก, มัลติพลาย และ ทวิตเตอร์  ส่วน เอ็มเอสเอ็น, ไอซีคิว นั้นเป็นการสนทนาออนไลน์หรือที่เรารู้จักว่า แชต ส่วน ยูทูบ ก็ไม่ได้จัดเป็นสังคมออนไลน์แต่ก็ถือเป็นส่วนประกอบได้เนื่องจากเป็นการแชร์คลิปวิดีโอสร้างความสนุกสนานเพลิดเพลินแก่กัน เพราะคำจำกัดความของสังคมออนไลน์ คือต้องมีการเขียนประวัติแนะนำตัวเอง
 
                “ไฮไฟว์” เป็นสังคมออน ไลน์ที่ใหญ่ที่สุดติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกมีผู้ใช้งานทั่วโลกกว่า 65 ล้านราย สมาชิกส่วนใหญ่   จะใช้ไฮไฟว์ในการติดต่อสื่อสาร  กับกลุ่มเพื่อน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ แชร์รูปภาพและ คลิปวิดีโอกันดู ซึ่งในแต่ละวันจะมีสมาชิกเข้ามาใช้บริการจากทั่วโลกนับล้านราย มีการเปิดตัวเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2546 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
 
                  ส่วนในประเทศไทยไฮไฟว์เป็นที่นิยมใช้กันมากที่สุดเป็นอันดับ 1 แต่ขณะนี้เริ่มอิ่มตัวแล้ว นักท่องโลกไซเบอร์โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานจึงหันมาให้ความสนใจ “เฟซบุ๊ก” กันมากขึ้น เพราะเงียบสงบและมีข้อจำกัดในการสมัครมากกว่าไฮไฟว์ เริ่มเปิดใช้งานเมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2547 โดยนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย  ฮาร์เวิร์ด ในช่วงแรกเปิดใช้งานเฉพาะนักศึกษาและต่อมา วันที่ 11 ก.ย. 2549 จึงขยายมาใช้สำหรับผู้ใช้ทั่วไปทุกคนเหมือนในปัจจุบัน สำหรับรูปแบบการใช้มีลักษณะคล้ายไฮไฟว์ คือ มีพื้นที่มากในการเขียนประวัติส่วนตัว ใส่รูปภาพ คลิปวิดีโอเพลง เล่นเกม ซึ่งเราสามารถปรุงแต่งพื้นที่ของเราในการแนะนำตัวเองได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชันเสริมอื่น ๆ ที่สร้างความสนุกสนานเพลิดเพลินจำนวนมาก
 
                ในขณะที่ “ทวิตเตอร์” เกิดขึ้นได้ประมาณ 3 ปีแล้ว โดยเปิดตัวเมื่อเดือนกรกฎาคม 2549 ปีเดียวกับเฟซบุ๊กที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และใช้กันในวงแคบ แต่ปัจจุบันในประเทศไทยมีกระแสดังขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งมีสถิติผู้สนใจเข้ามาเล่นเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีบุคคลสำคัญระดับประเทศอย่างนายกรัฐมนตรี นำมาใช้ในการติดต่อสื่อสารจนเป็นข่าวดังเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ทำให้หลายคนที่ไม่เคยรู้จักทวิตเตอร์จึงอยากทดลองสมัครใช้บ้าง โดย ชัชวาล อธิบายว่า ทวิตเตอร์ คือ การติดต่อ  สื่อสารที่ไม่เป็นเรื่องเป็นราว เหมือนกับชื่อ ทวิต ความหมายคือ เสียงนกร้อง เวลานกร้องบอกกันก็จะร้องจิบ ๆ ต่อ ๆ กันไปเรื่อย ๆ การเล่นทวิตเตอร์จึงเหมือนเสียงนกร้องที่จะร้องบอกต่อกันไปเรื่อย ๆ 
 
                ทวิตเตอร์ เป็นบริการเครือข่ายสังคมออนไลน์จำพวกไมโครบล็อก ที่ผู้ส่งสามารถส่งข้อความได้ยาวไม่เกิน 140 ตัวอักษร ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่เหมือนเป็นการอัพเดทตัวเองให้ผู้ที่เราแอดไว้เป็นเพื่อนทราบได้หลายช่องทาง เช่น เว็บไซต์ทวิตเตอร์, อีเมล, เอสเอ็มเอส ฯลฯ โดยจะแบ่งออกเป็น 2 หลักการคือ เราเป็นผู้ตาม หรือมีผู้ตามเรา ในเรื่องที่น่าสนใจ โดยส่วนใหญ่จะใช้กันในกลุ่มของนักวิจัย นักพัฒนา จึงแตกต่างจากไฮไฟว์และเฟซบุ๊ก เพราะทวิตเตอร์จะอาศัยความสนใจโดยที่ไม่ได้เป็นเพื่อนกันมาก่อนเพื่อแชร์ความรู้ซึ่งกันและกัน
 
                วิธีการเล่นนั้นหลังจากที่สมัครและแอดเพื่อนแล้ว หากใครที่ตามเราอยู่เวลาเราส่งข้อความหรือเรียกกันว่า “ทวิต” ข้อความก็จะถูกส่งไปถึงทุกคนที่สนใจตัวเราอย่างรวดเร็ว เช่น เรากำลังเศร้าหรือเสียใจอยู่ แต่จะตอบหรือไม่นั้นก็แล้วแต่ผู้รับ ส่วนการตามผู้ที่เราสนใจนั้นหากเขาทวิตอะไรมาเราก็จะทราบเรื่องของเขา เช่น คนดังอย่างนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ทวิตเรื่องใดเรื่องหนึ่งมาก็จะทำให้เราทราบข่าวก่อนใครที่ไม่ได้เป็นเพื่อนหรือก่อนที่สื่อจะลงข่าวสร้างความใกล้ชิดกันมากขึ้น
 
                 แทบไม่น่าเชื่อว่าการที่เรารับรู้เรื่องราวของคนอื่นว่าใครทำอะไรอยู่ที่ไหนหรือใครรับรู้เรื่องราวของเราจะกลายเป็นเรื่องสนุกสนานทำให้ผู้คนมากมายหันมาสนใจสมัครเล่นกันมากขึ้นในเวลารวดเร็ว ผู้ช่วยวิจัย ศูนย์เทคโน โลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอม พิวเตอร์แห่งชาติ ยังบอกอีกว่า วัตถุประสงค์ของการใช้สังคม ออนไลน์ คือ ความอยากเป็น  ที่สนใจและยอมรับ เนื่องจาก  ธรรมชาติของมนุษย์อยากแนะนำตัวเองแต่ไม่กล้า พอมีเนื้อที่ให้ขีดเขียนแสดงตัวตนและแสดงความคิดเห็นโต้ตอบกันทำให้สร้างความสนใจได้เป็นอย่างดี กระแสสังคมออนไลน์จึงเป็นที่นิยมมากขึ้น ยิ่งมีเพื่อนเข้ามาแอดหรือมาแสดงความคิดเห็นทำให้เรารู้สึกดีใจมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือ ถือเป็นการเปิดโลกทัศน์กว้างขึ้น ไม่ใช่เพียงรู้จักกันในกลุ่มเพื่อนเท่านั้น แต่ทำให้คนเราสามารถรู้จักกันได้ทั่วโลก บางครั้งเพื่อนที่ไม่เคยเจอกันมา 10-20 ปี ก็โคจรมาเจอกันในสังคมออนไลน์นี้ จึงทำให้โลกแคบลงโดยที่ไม่ต้องเดินทางไปมาหากัน
 
                 นอกจากวัตถุประสงค์ดังกล่าวแล้ว ขณะนี้ทวิตเตอร์เองก็ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในกลุ่มด้านการตลาด องค์กร และผู้ขายสินค้าแบรนด์ดังต่าง ๆ ที่หันมาใช้ทวิตเตอร์ในการสื่อสารและเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่ใช้อินเทอร์เน็ตได้เป็นอย่างดี รวมทั้งไม่ต้องเสียค่าบริการใด ๆ ทั้งสิ้น ถ้าผู้บริโภคสนใจก็ติดตามและซื้อสินค้าแบรนด์ดังกล่าว อย่างไรก็ตามด้วยความที่สะดวก ประหยัด รวดเร็วและสามารถรับผ่านโทรศัพท์มือถือได้ทำให้สำนักข่าวต่าง ๆ หันมาใช้ทวิตเตอร์กันมากขึ้นอีกด้วย
 
                   ทั้งนี้การใช้ประโยชน์จากเว็บไซต์ต่าง ๆ หากเรารู้จักใช้ก็ถือเป็นประโยชน์อย่างสูงสุด แต่หากใช้ไม่เป็นอาจกลายเป็นเหมือนดาบสองคม เพราะบางทีสิ่งที่ผู้คนจำนวนมากจากทุกแห่งหนเข้ามาโพสต์ข้อความเพื่อ สร้างตัวตนให้ตัวเองดูดีก็เปรียบเสมือนเป็นโลกใบหนึ่งในโลกแห่งความเป็นจริง บางครั้งก็ไม่เป็นความจริงเสมอไป เราจึงต้องรู้จักเตือนใจตัวเองไว้อยู่เสมอถึงแม้จะมีระบบความปลอดภัยในตัวเทคโนโลยีในระดับหนึ่ง แต่เราจะทราบได้อย่างไรว่าเพื่อน  ที่เรารู้จักจาก 100 คน จะไม่มีมิจฉาชีพแอบแฝงมาด้วย เพราะที่ผ่านมาก็มีข่าวในลักษณะนี้  อยู่บ่อย ๆ จึงอย่าพยายามโพสต์ ข้อความที่เป็นเรื่องส่วนตัวมากเกินไป เช่น ตอนนี้เหงาจังอยู่บ้านคนเดียวหรือว่าจะไปเที่ยวและไม่มีคนอยู่บ้านหลายวัน เพราะเป็นการเปิดช่องทางให้พวกมิจฉาชีพที่จับจ้องเราอยู่ทราบความเคลื่อนไหวและมีโอกาสก่อเหตุร้ายขึ้นได้ทุกเมื่อ
    
ดังนั้นความปลอดภัยอยู่ที่ตัวเราเองว่าจะป้องกันตัวได้มากน้อยแค่ไหน..?


                                           






บทความโดย กรวิกา คงเดชศักดา







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น