วันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

บันทึกครั้งที่ 6 พระอารมณ์ขันของสมเด็จพระเทพฯ

เรื่อง "เข้าจุฬาฯ ชั่วโมงแรกก็เจอดี"
นิสิตจุฬาฯ ตื่นเต้นกันทุกคน  เมื่อทราบข่าวที่ค่อนข้างแน่นอนว่า
สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นี้จะทรงสอบเข้าจุฬาฯ  เพื่อจะทรงศึกษาในคณะอักษรศาสตร์

ไม่เฉพาะแต่ที่ตึกอักษรศาสตร์เท่านั้น ทางคณะวิทยาศาสตร์  คณะวิศวกรรมศาสตร์
คณะบัญชี  ตลอดจนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  ต่างก็คอยเฝ้าดูเหตุการณ์ว่าสมเด็จเจ้าฟ้า
พระองค์นี้จะทรงวางพระองค์อย่างไรกับอาจารย์และกับเพื่อนนิสิตด้วยกัน
ข้อสำคัญใครจะกล้าเข้าใกล้พระองค์ท่าน  บางคนถึงกับลงทุนซักซ้อมการเพ็ดทูล
แบบราชาศัพท์กันระหว่างเพื่อนฝูง

และแล้ววันแรกในชีวิตนิสิตหญิง  ซึ่งเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์แรกของจุฬาฯ ก็มาถึง

อาจารย์ในคณะอักษรศาสตร์ก็ตื่นเต้น
แต่ในวันแรกของการเปิดเทอมแรกของปีใหม่
ทุกอย่างและทุกคนดูจะวุ่นวายชุลมุนกันไปหมด
โดยเฉพาะนิสิตปีที่ ๑  ห้องเรียนอยู่ที่ไหนก็ยังไม่ทราบ
สอบถามกันให้วุ่นวาย

วิชาแรกในวันนั้นของนิสิตอักษรศาสตร์ปีที่ ๑  คือวิชาวรรณคดีละครพูด
ซึ่งจะต้องเข้าเรียนรวมกันทั้งชั้นในห้องใหญ่ ... ใหญ่จริง ๆ
นักเรียนปีหนึ่งแม้ว่าจะมาจากโรงเรียนต่าง ๆ  ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน
แต่ก็จับกลุ่มกันเฉพาะที่มาจากโรงเรียนเดียวกัน  ก็เลยคุยแข่งกันเป็นกลุ่ม ๆ
เสียขรมแซดไปหมด  อาจารย์ศักกดิ์ศรี  แย้มนัดดา
อาจารย์ผู้สอนเข้ามาในห้องแล้ว  นิสิตใหม่ก็ยังไม่รู้จักเกรงใจ

ท่านอาจารย์ต้องนั่งรออยู่เป็นเวลาถึงห้านาที  เพื่อจะให้เงียบ
แต่ก็เปล่า ... ไม่ได้ผล ... ไม่มีทีท่าว่าจะเงียบ

อาจารย์ศักดิ์ศรีจึงตัดสินใจว่า  จะต้องเทศนาสั่งสอนอบรมเรื่องระเบียบ
วินัยกันเสียแล้ว  เรื่องเรียนอย่าเพิ่งเลยเพราะนิสิตยังขาดสมาธิ
สอนไปก็จับอะไรไม่ได้

อาจารย์เลยเทศน์เสียเกือบครี่งชั่วโมง
แต่แล้วก็นึกขึ้นได้ว่า  เอ๊ะ  สมเด็จเจ้าฟ้าก็ต้องอยู่ในกลุ่มนี้
ในห้องนี้แน่  พยายามกวาดสายตาดูก็ไม่เห็นเพราะมีนักเรียนมากมาย
นั่งหน้าสลอนไปหมด  จนจำไม่ได้ว่าใครเป็นใคร

พวกนิสิตใหม่ตกใจ  ที่อาจารย์ไม่ยอมสอนในชั่วโมงแรก  เอาแต่อบรมเรื่อง
ระเบียบวินัย  ต่างซุบซิบกันว่าอาจารย์คนนี้ดุจังเลย

สำหรับทูลกระหม่อมนั่นทรงตกพระทัย  เพราะตอนอยู่ที่โรงเรียนจิตรลดา
ไม่เจอะเจออาจารย์ดุแบบนี้

ทรงบ่นกับพระสหายที่นั่งอยู่ข้าง ๆ ว่า
"พอเข้าชั่วโมงแรกก็เจอดีเลยทีเดียว"
แต่ไม่ทรงขุ่นเคืองพระทัย  ทรงเห็นว่าการรักษาระเบียบวินัยในห้องเรียน
เป็นสิ่งจำเป็น  แม้นักเรียนจะเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ไม่ควรละทิ้งระเบียบเช่นนี้

พระอาจารย์ศักดิ์ศรี  แย้มนัดดากล่าวถึงทูลกระหม่อมว่า  ทรงเป็นผู้เพียรกล้า
ในการแสวงหาวิชาความรู้  ทรงตักตวงอย่างไม่รู้จักอิ่ม  ลำพังการเรียน
เฉพาะชัวโมงที่ลงทะเบียนไว้ก็กินเวลาสัปดาห์ละไม่น้อยอยู่แล้ว
และยังจะมีงานที่จะต้องทำมาส่งอาจารย์อีก  เพื่อน ๆ บ่นกันว่าปีแรกนี้เรียนหนัก
เรียนไม่ค่อยรู้เรื่องบ้าง  เซ็งบ้าง  ตามแต่จะบ่นกันไปกระปอดประแปด
แต่ทูลกระหม่อมไม่ทรงบ่นเลย  มีแต่จะคิดเรียนโน่นเรียนนี่เพิ่มเติมอยู่เสมอ
อย่างไม่ทรงรู้จักคำว่าเหน็ดเหนื่อย  ทรงสนุกกับการเรียน  เรียนวิชาปีหนึ่งแล้ว
พอว่างก็แอบไปเข้าห้องเรียนชั้นปริญญาโทขอฟังกับเขาด้วย
เพราะทางมหาวิทยาลัยไม่ห้ามพวกปริญญาตรีจะเข้าฟังของพวกปริญญาโท
ก็ไม่มีกฎห้ามแต่อย่างใด  แต่อาจารย์ศักดิ์ศรีบอกว่า  สามสิบปีทีสอนมา
ไม่เคยมีนักศึกษาปริญญาตรีเข้ามาแอบฟังการสอนชั้นปริญญาโทเลย
เพิ่งมีคราวนี้แหละ  จึงเป็นที่กล่าวขวัญถึงกันมากในหมู่คณาจารย์

แต่ในหมู่นิสิตคณะอื่นนั้น  โจษขานกันแต่ว่ามีบุญตาได้เห็นทูลกระหม่อม
แล้วหรือยัง  จนมีนิสิตช่างสังเกตแนะให้ว่า  "คนไหนไว้เปียยาวก็คนนั้นแหละ"



ทรงพระเจริญ


พระอารมณ์ขันของสมเด็จพระเทพฯ
โดย … วิลาศ  มณีวัต  
http://www.our-teacher.com



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น